ความบังเอิญที่ซอยสายลม by วิกสายลม

บทความพิเศษ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวฮอตของวงการทีวี วิทยุ และโทรคมนาคมยกพลมาอยู่ที่สำนักงานกสทช.พิกัดซอยสายลม เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคม ได้รับการผ่อนผันกำหนดการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่ถึงกำหนดชำระสิ้นเดือนพ.ค. เลื่อนออกไปเป็น 15 ส.ค. 2563 สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กขนาดรายได้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ต่อปี  ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ได้แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด เป็นการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ช่วยต่อลมหายใจในช่วงวิกฤตโควิด-19 ออกไปได้บ้าง

ในโอกาสเดียวกันบอร์ดกสทช.ก็อนุมัติเงินช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐอีก 46 แห่ง วงเงิน 181.38 ล้านบาท เพื่อการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์  เป็นข่าวดีสำหรับโครงการดีๆจากกสทช.เพื่อการช่วยเหลือสังคม ในช่วงวิกฤตโควิด-19

ปิดท้ายด้วยข่าวคราวการประกาศงดการจ่ายเงินโบนัสพนักงานกสทช.สำหรับปี 2563 ในวงเงินประมาณ 200 ล้านบาท โดยที่จะส่งเงินก้อนนี้ไปให้รัฐบาลในช่วงที่ประสบภาวะต้องการเงินอย่างมาก  ตามข่าวออกมาว่าต้องกู้เงินก้อนมหึมามาใช้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้

เรื่องของเม็ดเงินทั้ง 3 กรณีทั้งหมดนี้ เสนอพิจารณา โดย “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ที่กำลังจะหมดวาระของหน้าที่ เลขาธิการ กสทช.ในเดือนก.ค.นี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาเช่นนี้บอกได้เลยว่า “ยอดเยี่ยมมาก”

เรื่องทั้งหมดไม่มีข้อกังขาใดๆ เนื่องจากเป็นนโยบายช่วยชาติในช่วงภาวะวิกฤต จากองค์กรที่มีรายได้มหาศาลจากการประมูลคลื่นความถี่เป็นแสนล้าน

หากว่าไม่บังเอิญเห็นข่าวที่ออกมาในช่วงเดียวกันว่า วันอังคารที่ 2 มิ.ย.นี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตรียมเสนอ ครม.ให้ สรรหา บอร์ดกสทช. ก่อนที่การแก้ไข พรบ.องค์กรจัดคลื่นความถี่ หรือพรบ.กสทช.ที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจะแล้วเสร็จ

ย้อนไปเมื่อสองปีก่อนที่มีการคัดสรร บอร์ดกสทช ใหม่ทดแทน บอร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันที่รักษาการมายาวนานกว่า 8 ปีแล้ว จากบอร์ด 14 คน ปัจจุบันเหลือบอร์ดกสทช.อยู่แค่ 6 คน ในครั้งนั้นมี 14 รายชื่อ ถูกนำเสนอ สู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช. ) เพื่อเลือกให้เหลือ 7 อรหันต์แห่งสายสม แต่ผลที่ออกมากลับกลายเป็นว่า สนช. ตีตกทั้ง 14 รายชื่อ พร้อมทั้งมีคำสั่ง คสช.ที่ 7/2562 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ให้ระงับการสรรหา จนกว่าจะมีการแก้ไข พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ในส่วนของกระบวนการสรรหาฯแล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ หรือจนกว่านายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามปรับแก้ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ให้แล้วเสร็จ แต่ก็ไม่สำเร็จเสียที จนมาถึงปี 2563 อันเป็นปีที่  “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช.ต้องเกษียณอายุราชการ ในเดือนก.ย.นี้ แต่ท่านฐากร ไม่รอถึงวันนั้น ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเลขาฯให้มีผลครั้งแรก 18 พ.ค.2563 แต่บอร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันขยายให้มีผล 1 ก.ค.นี้แทน

หลายคนสงสัยว่าทำไมท่านต้องแสดงสปิริตขนาดนี้  แต่หลายคนบอกเข้าใจดี เอ๊ะเข้าใจอะไรกันนะ

เรียงเวลาตาม Time line ตั้งแต่ช่วงต้นปี มีข่าวที่รัฐบาล “ติดสปีด” แก้ไขพรบ.เพื่อผลักดันในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือก บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ให้ออกมาได้โดยเร็ว แต่ก็ต้องมาเจอกับพิษโควิด จนมีวี่แววว่า การแก้ไขพรบ.อาจจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว

จู่ๆ ก็มีข้อเสนอ “ทางออก” เพื่อให้มีบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ได้โดยเร็ว ด้วยการไปเกาะ คำสั่งคสช.ที่ 7/2562   ที่มีติ่งท้ายให้อำนาจนายกฯ โดยความเห็นชอบของ ครม. จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ฉะนี้ จึงเป็นที่มาของการผลักดันผ่านกระทรวงดีอีให้เสนอ ครม. สรรหาบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ก่อน พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯจะแล้วเสร็จ

เวลาไล่เลี่ยกันก็มีข่าวลือว่า กำลังมีการฟอร์มทีม เข้าสมัครบอร์ดกสทช.ชุดใหม่กันอย่างคึกคัก 

งานนี้อำนาจ วาสนาของการเป็นคณะผู้บริหารหน่วยงานที่ไม่มีวันขาดทุน  ลือกันไปลือกันมา “เต็งจ๋า” ที่จะกลับมาเป็น บอร์ด กสทช. แบบหาคนเทียบยากต้องยกให้ เลขาธิการกสทช.คนปัจจุบัน ที่เร่งทำผลงานสุดยอดในโค้งสุดท้าย

ข่าวเกี่ยวกับ กสทช. 2 ข่าวนี้เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน กลายเป็นเรื่อง “เมาท์” กันให้กระหึ่มซอยสายลม โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การเร่งจัดการนำเงิน “โบนัส” ของพนักงานกสทช.ส่งให้รัฐ

ปกติเรื่องโบนัสของกสทช.จะพิจารณากันปลายปี แต่กลับกลายเป็นว่า ก่อนที่จะเลขาฯจะลาตำแหน่ง 

ก็เลยรีบจัดการเรื่องทั้งหมดเป็นผลงานชิ้นใหญ่ รับข่าวเตรียมการคัดเลือกบอร์ดกสทช.ชุดใหม่พอดี

ก็เลยไม่รู้จริงๆว่า 2 เรื่องนี้ มันเกี่ยวกันไหม ถ้าหากบังเอิญครม. อนุมัติตามที่กระทรวงดีอีนำเสนอ อาจสรุปได้ว่า เป็นแผนการ ที่ไม่ใช่ความบังเอิญเสียแล้ว

Tagged