เหตุผล ทำไมต้องคืน 2 ช่อง เมื่อกลุ่มช่อง 3 ขาดทุน ไตรมาสแรก ปีนี้ 128 ลบ.

ผลประกอบการ

หลังจากกลุ่มช่อง 3 แจ้งต่อกสทช.ว่าขอคืนใบอนุญาตช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่องในช่อง 3Family และช่อง 3SD ไปแล้ว ในเย็นวันเดียวกัน (10 พ.ค ) บริษัท บีอีซี เวิลด์ ซึ่งบริหารงานทีวีดิจิทัลช่อง 3 ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่ายังคงขาดทุน 128 ล้านบาท เป็นการขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

เมื่อปี 2561 บีอีซี เวิลด์ ขาดทุนทั้งปี 330 ล้านบาท นับเป็นปีแรกที่ขาดทุนตั้งแต่จะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่สภาพการขาดทุนก็ยังต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปี 2562 นี้ที่ขาดทุน128 ล้านบาท โดยขาดทุนเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ที่ขาดทุนอยู่ที่ 126 ล้านบาทด้วย

บีอีซี เวิลด์ ได้รายงานว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้รวมอยู่ที่ 2.023.8 ล้านบาท ลดลง 14.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้อยู่ที่ 2,375.2 ล้านบาท โดยมีเหตุผลหลักจากการชะลอตัวของเม็ดเงินโฆษณาในระบบ เนื่องจากมีการเลื่อนการเลือกตั้งจากเดือนม.ค.มาเป็นมี.ค.62 ทำให้ภาคธุรกิจชะลอการลงโฆษณาจนกว่าจะมีความชัดเจนทางการเมือง

สอดคล้องกับตัวเลขภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาจากนีลเส็นที่ระบุว่า ไตรมาสแรกปีนี้มีรวม 24,145 ล้านบาท ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้ว ที่มีเม็ดเงินรวม 24,520 ล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของบีอีซี เวิลด์มีรายได้เฉพาะจากการขายโฆษณาในไตรมาสแรกนั้นอยู่ที่ 1,718.5 ล้านบาท ลดลง 18.7 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ 2,112.8 ล้านบาท โดยระบุชัดเจนว่า รายได้ที่ลดลง มาจากการขายนาทีโฆษณาลดลง

ทั้งนี้รายได้จากการขายโฆษณา เป็นรายหลักถึง 84.9% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาเป็นรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ 205.4 ล้านบาท หรือ 10.01% ของรายได้รวม ซึ่งรายได้จาการขายลิขสิทธิ์นี้เพิ่มขึ้น 19.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

กลยุทธ์ “ละครรีรัน” ลดค่าใช้จ่าย

ส่วนค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทในไตรมาสแรกนี้ อยู่ที่ 1.823 ล้านบาท ลดลง 13.6 % จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 2,109.1 ล้านบาท และลดลง 15.6% จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 สาเหตุที่ค่าใช้จ่ายลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 / 2561 เนื่องจาก ไตรมาส 4/2561 มีต้นทุนโครงการเกษียณอายุและลดพนักงานเพื่อปรับโครงสร้างองค์กร และโครงการออกอากาศละครรีรันในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้ลดต้นทุนค่าละครมาถึงไตรมาสแรกของปีนี้

ช่อง 3 ได้ใช้กลยุทธ์การนำละครเก่าที่ได้รับความนิยม มาออกอากาศในหลายช่วงเวลา ตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ โดยในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาก็จัดละคร “แรงเงา1” มารีรันช่วงละครเย็น แถมยังต่อเนื่องมาถึงละคร “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง” ที่นำมารีรันในช่วงละครเย็นอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่เพิ่งออนแอร์จบไม่ได้ไม่นาน ซึ่งคาดว่าการนำละครรีรันมาออนแอร์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึงเดือนละ 50 ล้านบาท

จากภาพรวมผลประกอบการในไตรมาสแรกปีนี้ จึงทำให้มองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นถึงสถานการณ์ทางการเงิน และรายได้ของบริษัท ที่มีผลต่อการตัดสินใจครั้งใหญ่ ทำให้กลุ่มช่อง 3 ต้องทิ้งช่องทีวีดิจิทัลถึง 2 ช่อง โดยเฉพาะช่อง 3SD หรือช่อง 28 ที่อยู่ในช่องอันดับ 7 ทั้งๆที่เป็นช่องมีคอนเทนต์หลักเป็นละครรีรัน ต้นทุนน้อย ซึ่งคาดว่าการจากไปของช่อง 3SD จะมีผลดีต่อบรรดาช่องที่เหลือทั้งหมด ที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาได้มากขึ้น จากอันดับช่องที่ดีขึ้น และฐานผู้ชมเดิมของช่อง 3SD ที่จะกระจายไป

นับว่าเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิม ของกลุ่มช่อง 3 ของตระกูล “มาลีนนท์” มามีใบอนุญาตทีวีในมือ 2 ช่อง แต่ออกอากาศคู่ขนาน ผังรายการเดียวกัน ทั้งช่อง 3 แอนะล็อก ที่จะหมดอายุสัมปทานในเดือนมี.ค.ปี 2563  และช่อง 3HD ที่เป็นใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของกสทช.  

ส่วนเงินที่ได้ชดเชยจากกสทช.ในการขอคืนช่องครั้งนี้ รวม 2 ช่องมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท มีรายงานว่ากลุ่มช่อง 3 จะหันไปมุ่งพัฒนาคอนเทนต์ลงช่องทางออนไลน์

Tagged