วิเคราะห์ทางเลือก เส้นทางบอร์ดกสทช.ชุดใหม่

Byวิกสายลม บทวิเคราะห์


By วิกสายลม

ความเคลื่อนไหวหลังจากมีการประกาศรายชื่อ 14 แคนดิเดต จากผู้สมัครเป็นบอร์ดกสทช.ที่ “บิ๊กเนม”หลายคนหลุดโผไปแล้ว กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ ว่าเส้นทางการมาของบอร์ดใหม่กสทช. จะเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อไร

ท่ามกลางข่าวการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสรรหาจากรายชื่อผู้สมัคร 80 คนเหลือ 14 คน ก็มีอีกหนึ่งเส้นทางในการเร่งแก้ไขร่างพรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือพรบ.กสทช.ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่างพรบ.กสทช.พิจารณาเรื่องนี้
สองเส้นทางเกิดบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ คู่ขนานกัน บอร์ดใหม่จะมาจากเส้นทางไหน

กสทช.องค์กรกำกับดูแล ที่เกี่ยวข้องกับเงินมูลค่ามหาศาลจากคลื่นความถี่ สร้างรายได้เข้ารัฐ และควบคุมดูแลสื่อ ที่ขับเคลื่อนด้วยบอร์ดกสทช. การขยับ ปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ทุกครั้ง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เลือก 7 จาก 14 บัญชีรายชื่อ ลิงค์กับ “เพลย์เวิร์ค” ?

เส้นทางแรก เลือกบอร์ดใหม่จากกระบวนการสรรหาตามพรบ.กสทช.ปัจจุบัน ที่ดำเนินการมาถึงขั้นได้รายชื่อ 14 คนสุดท้ายแล้ว ที่ดูเหมือนว่าข่าวสารหลั่งไหลมาเชิงกังขาที่มาของ 14 รายชื่อ ดูเหมือนว่าเกี่ยวพันกับ “คลื่น 2600MHz” กับดีล “อสมท-เพลย์เวิร์ค”

ตำนานการสร้างเงินจากคลื่น 2600 MHz เป็นเรื่องมหากาพย์ที่ปั้นคลื่นเป็นเงิน มานานกว่า 10 ปี จากคลื่นของ อสมท.ที่ใช้ในกิจการทีวีบอกรับสมาชิก ระบบ MMDS ในช่วงปี 2532 ให้กับเอกชน ไทยสกายทีวี และ IBC หรือทรูวิชั่นส์ในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้ประสบปัญหาการโดนจูนสัญญาณจนบรรดาผู้ให้บริการต้องหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ ในรูปแบบเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมแทน ทำให้คลื่น 2600 ว่างลง พร้อมๆกับการเกิด กสทช.ตามพรบ.กสทช.ฉบับแรก ปี 2553 หากคลื่นไหนไม่ได้งาน จะต้องคืนให้กับกสทช.

เพลย์เวิร์ค ก้าวเข้ามาทำสัญญากับอสมท.ในปี 2553 เพื่อให้บริการเพย์ทีวี ด้วยด้วยการใช้เทคโนโลยี Broadband Wireless Access (BWA) บนคลื่น 2600 MHz แต่ก็ติดปัญหาเรื่องสิทธิการใช้คลื่น และการให้บริการที่กสทช.ระบุว่า อาจจะเข้าข่ายเป็นการให้บริการโทรคมนาคม ไม่ใช่กิจการกระจายเสียงตามเงื่อนไขในการใช้คลื่นเดิม อีกทั้งสัญญาที่อสมท.ทำกับเพลย์เวิร์คไม่ใช่สัญญาสัมปทานเป็นเพียงสัญญาจ้างทำบริการเท่านั้น

เพลย์เวิร์ค เดินเกมสู้เพื่อสิทธิในการใช้คลื่นย่านนี้กับกสทช.ตั้งแต่เริ่มต้นทำสัญญา ผ่านไปหลายรัฐบาล เกี่ยวข้องทั้งการเมืองหลายพรรค และรัฐมนตรีหลายคน ตั้งแต่ยุคบอร์ด กทช. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม มาเป็นบอร์ด กสท หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และบอร์ดกสทช. ค่อยๆขยับทีละคืบ จนอุปสรรคต่างๆผ่านการอนุมัติของบอร์ดแต่ละยุค ที่เสียงแตกมายมาย จนได้ข้อสรุปที่พลิกผัน บอร์ดกสทช.เสียงข้างมากรับรองว่าสัญญาของอสมท.และเพลย์เวิร์คเป็นสัญญาสัมปทานอายุ 15 ปี ในปี 2558 โดยที่อสมท.เป็นเจ้าของคลื่น

ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ มีการแก้ไขพรบ.กสทช.2553 ในปี 2560 สาระสำคัญคือ กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ เป็นที่มาของการตั้งสูตรคำนวณมูลค่าเงินเยียวยาของคลื่น 2600 ที่กสทช.ขอคืนจากอสมท.มาประมูลทำ 5G ในต้นปี 2563

เส้นทางปั้นคลื่นเป็นเงินกว่า 10 ปี ว่ากันว่า มีการคาดหวังมูลค่าคลื่นเป็นหมื่นล้านบาท แต่เมื่อบอร์ดกสทช.มีบทสรุปให้เงินเยียวยาคลื่นนี้เพียง 3.2 พันล้านบาท อสมท.จะแบ่งให้เพลย์เวิร์ค 50% เป็นเงิน 1.6 พันล้านบาท จึงมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันในศาล โดยเพลย์เวิร์ค ยื่นร้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2563 เรียกร้องเป็นวงเงิน 1.75 หมื่นล้านบาทจากกสทช.และอสมท.

จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาบอร์ดกสทช.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา มีเรื่องอื้ออึงเรื่องความสัมพันธ์ของรายชื่อแคนดิเดตบางคน ที่เกี่ยวข้องกับเพลย์เวิร์ค เท่าที่เห็นเด่นชัด เริ่มจาก

“กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ” แคนดิเดตในสายโทรคมนาคม อดีต CEO กสท.โทรคมนาคมปี 2555-2557 ที่ปรากฏว่ามีประวัติจากรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นบอร์ด กสทช. จำนวน 14 คน ในปี 2561 ซึ่งเป็นชุดที่ส.ว.ล้มกระดานไม่เลือก โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า เขาเคยทำงานในเพลย์เวิร์ค ตำแหน่ง ผู้ชำนาญการด้านโทรคมนาคมของบริษัท 1 ม.ค.2558- 31 ธ.ค.2559

“จิตรนรา นวรัตน์” แคนดิเดตสายกฎหมาย จากอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ ของ กสทช.ที่แสดงความเห็นชัดเจนมาโดยตลอดว่า เพลย์เวิร์คและอสมท.ควรได้เงินเยียวยาจากการเสียโอกาสในการทำธุรกิจหลายปี

“ภักดี มะนะเวช” แคนดิเดตสายเศรษฐศาสตร์ รองเลขาธิการกสทช.สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่ดูแลสายงานนี้โดยตรง และเป็นผู้บริหารกสทช.เพียงคนเดียวที่ฝ่าด่านเข้ามาใน 14 คนสุดท้ายได้

แถมยังมีรายชื่อบางคนที่เป็นบอร์ดบริษัทที่รับงานกสทช.อยู่ “พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอาง” แคนดิเดตสายคุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับมีข้อมูลสายธุรกิจ เป็นกรรมการบริษัทที่มีบริษัทในเครือข่ายเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 6 ม.ค.64 ระบุว่า เขาเป็นบอร์ด บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งมีบริษัทลูกเป็นผู้รับใบอนุญาตโครงการ USO NET ของกสทช.

ภาพจากเว็ปไซต์บริษัท https://www.sevenup.co.th/คณะกรรมการ/5e69a8291382ec0012193560/langTH

เลือกจากพรบ.กสทช.ฉบับแก้ไขใหม่?

ร่างแก้ไขพรบ.กสทช.ฉบับใหม่นี้ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ของผู้มาสมัครหลายจุด ร่างนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพรบ.กสทช.ของวุฒิสภา ที่มีกำหนดต้องพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 24 พ.ค.64 (รวมการขอขยายระยะเวลา 30 วัน)

เมื่อการแก้ไขพรบ.กสทช.ควบคู่ไปกับการสรรหาบอร์ดกสทช.ตามพรบ.เดิม ประเด็นสำคัญของการแก้ไขร่างพรบ.กสทช.ในขณะนี้ จึงอยู่ที่การกำหนดบทเฉพาะกาล เกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานของว่าที่บอร์ดกสทช.ที่อยู่ในขั้นตอนส่งรายชื่อ 14 คนสุดท้ายไปที่วุฒิสภาแล้ว จะเป็นเวลาเท่าไร

จากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 3 แนวทางในการเดินหน้าดันพรบ.กสทช.ฉบับแก้ไขใหม่นี้
โดยการกำหนดให้บอร์ดกสทช.ชุดใหม่อยู่ 3 ปี หรือ 6 ปี หรือเลือกวิธีเดินหน้าดันแก้ไขพรบ.กสทช.ฉบับใหม่ไปเลย แล้วระบุระยะเวลาให้สถานภาพบอร์ดใหม่กสทช.จากพรบ.เก่า สิ้นสุดการทำงาน เมื่อมีบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ที่เกิดจากกฎหมายใหม่

ทางหลายแพร่งที่ สว.ต้องเลือก

เส้นทางการมีบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ แทนที่บอร์ดชุดปัจจุบันที่อยู่มานานเกือบ 10 ปีแล้ว จึงอยู่ในมือ สว.จะเลือกเดินทางไหนที่ดูสง่างาม ไม่โดนข้อครหา

จะเลือกโหวตเลือก 7 บอร์ดกสทช.จากรายชื่อ 14 คนที่กรรมการสรรหาส่งมาให้ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์คุณสมบัติของผู้สมัครบางคน ที่โยงกับ “ดีล” ราคาแพง ถึงขั้นมีการส่งโผรายชื่อ 7 คนสุดท้ายกันมาแล้ว

หากเลือกเส้นทางนี้ อยู่ที่ว่า ส.ว.จะเลือกตามโผ หรือสกรีนกันใหม่ เพื่อเคลียร์ข้อเชื่อมโยงทางธุรกิจ เลือกคนที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ปัจจุบัน

แล้วใช้กลไกของกม.ใหม่กำหนดระยะเวลาในการทำงาน จะสั้นหรือยาว อยู่ที่บทเฉพาะกาลของพรบ.ฉบับแก้ไขนี้

หรือจะสร้างเส้นทางใหม่ ล้มกระดานการสรรหาว่าที่บอร์ดชุดนี้ แล้วไปเร่งเดินหน้าดันพรบ.ฉบับแก้ไขนี้แทน เพื่อให้เริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้งตามเงื่อนไขในพรบ.กสทช.ใหม่

ทางหลายแพร่งในมือ ส.ว. ที่”ผู้มีอำนาจ” ต้องคิดหนัก จะมีบทสรุปเช่นไร

Tagged